35.2 C
Bangkok
หน้าแรก Medicine โควิดกับการตั้งครรภ์: ข้อมูลที่มีล่าสุดบอกอะไรบ้าง?

โควิดกับการตั้งครรภ์: ข้อมูลที่มีล่าสุดบอกอะไรบ้าง?

หญิงมีครรภ์เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองในกรุงการากัส แสดงให้เห็นว่าหญิงตั้งครรภ์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการโรค COVID-19 เครดิต: Manaure Quintero / Reuters

จากการเก็บข้อมูลการวิจัยของกลุ่มต่างๆ ทั่วโลกพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกันที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

“ผู้หญิงตั้งครรภ์มีอาการแย่กว่าคนทั่วไป แต่ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์มีเพียงเล็กน้อย”

แต่ข่าวดีก็คือเด็กทารกในครรภ์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ และมักไม่ป่วย ตัวอย่างเลือดจากสายรกบ่งชี้ว่าไวรัสไม่ค่อยแพร่กระจายจากมารดาสู่ทารกในครรภ์

ยังมีคำถามอีกมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ เช่น นักวิจัยต้องการทราบว่าการติดเชื้อโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์มีการแพร่หลายมากน้อยเพียงใด เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่รวบรวมจากสตรีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นักวิจัยกำลังศึกษาด้วยว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสมากน้อยเพียงไร หรือความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเกิดขึ้นโดยเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งของการตั้งครรภ์หรือหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ไม่ได้ศึกษา เรื่องความปลอดภัยในการฉีดวัคซีน ตามการทดสอบที่ผ่านมาของผู้ผลิตวัคซีนทุกรายในตลาด ณ ปัจจุบัน ไม่มีการทดสอบในหญิงตั้งครรภ์เลย แม้ว่าการทดลองในปัจจุบันและที่วางแผนไว้จะรวมไว้ด้วยแล้วก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตอนนี้จึงเป็นเหมือนหนูทดลอง

ในขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องของการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ในเดือนมกราคม องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตโดย Moderna และ Pfizer / BioNTech ให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดเท่านั้น เช่น กลุ่มผู้ที่ทำงานในตำแหน่งแนวหน้าหรือมีปัญหาภาวะสุขภาพอยู่แล้ว และต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์แล้วเท่านั้น ต่อมาโฆษกของ WHO ออกมาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าเนื่องจากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอจึง “ไม่สามารถให้คำแนะนำแนวทางในการปฏิบัติ สำหรับการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ได้”

“ไม่สามารถให้คำแนะนำหรือแนวทางในการปฏิบัติ สำหรับการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ได้”

ความเสี่ยงก่อนคลอด

โดยทั้วไปไวรัสทางเดินหายใจถือเป็นภัยคุกคามต่อหญิงตั้งครรภ์อยู่แล้ว เนื่องจากปอดทำงานหนักกว่าปกติอยู่แล้ว เมื่อมดลูกขยายตัวมากขึ้นมันจะดันกระบังลมสูงขึ้น ทำให้ลดความจุของปอดและยังต้องแบ่งออกซิเจนบางส่วนไปที่ทารกในครรภ์ ยิ่งไปกว่านั้นการตั้งครรภ์จะมีภาวะลดระบบภูมิคุ้มกันลงอีก เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อทารก ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

สำหรับในกรณีที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่: หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ในรายงานวิจัยไข้หวัดใหญ่ H1N1 ระหว่างการระบาดใหญ่ในปี 2009–10 พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงต่อการคลอดก่อนกำหนดและสภาวะทารกตายในครรภ์ ดังนั้นสูติแพทย์ทั่วโลกจึงเพิ่มการเฝ้าระวังขึ้นสูงมากขึ้นในช่วงของการระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา

ข้อมูลแรกสุดจากประเทศจีน ระบุว่าสตรีมีครรภ์ไม่ได้อาการแย่ไปกว่าสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ในวัยเดียวกัน แต่แพทย์ทั่วโลกไม่เชื่อข้อมูลดังกล่าว เพราะแพทย์ที่ทำงานพบว่าในผู้ป่วยของพวกเขา “ หญิงตั้งครรภ์ป่วยมากกว่าผู้หญิงคนอื่น ๆ ”

เมื่อมีการรายงานจากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น จึงแสดงให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการวิเคราะห์การศึกษาจาก 77 กลุ่มที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2020 ที่ผ่านมา ทำให้ชัดเจนว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง การรวมข้อมูลจากผู้หญิงมากกว่า 11,400 คนที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าเป็น COVID-19 และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด อัตราของหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) สูงกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ในวัยเดียวกันถึง 62% และอัตราการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจสูงขึ้น 88%

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็น COVID-19 มีอัตราต้องเข้าห้อง ICU สูงกว่าหญิงทั่วไปถึง 62% และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจสูงขึ้น 88%

ในการศึกษาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ยิ่งสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาในผู้หญิงมากกว่า 400,000 คน ที่มีผลบวกและมีอาการของ COVID-19 ซึ่งในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 23,434 คน พบว่าอัตราการเข้า ICU และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในสตรีมีครรภ์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน (ภาพรายงานความเสี่ยงจากแสดงด้านล่าง)

ในการศึกษาพบว่ากลุ่มหญิงตั้งครรภ์(จุดสีแดง) มีเปอร์เซนต์ความเสี่ยงสูงกว่าคนคนปกติในวัยเดียวกัน(สีฟ้า) ในทุกกรณี
Allotey, J. et al. Br. Med. J. 370, m3320 (2020).

กรณีการศึกษาอัตราการคลอดก่อนกำหนด มีการติดตามผู้หญิงมากกว่า 4,000 คนที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าเป็น COVID-19 ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่า 12% ของผู้เข้าร่วมในสหราชอาณาจักรคลอดก่อนกำหนดเทียบกับอัตราในประเทศที่ 7.5% ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบ 15.7% มีการคลอดก่อนกำหนดเทียบกับอัตราในประเทศที่คาดไว้คือ 10% จากการวิเคราะห์ของนักวิจัย พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้นถึงสามเท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรค

จากแม่สู่ลูก

หากแม่ติด COVID-19 ลูกน้อยจะได้รับผลกระทบหรือไม่? การคลอดก่อนกำหนดอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในภายหลัง แต่การคลอดก่อนกำหนดในสตรีที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ถือว่าโชคดีเพราะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีโอกาสในการพัฒนาสุขภาพที่ดีที่สุด และข้อมูลจากการศึกษาในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 4,000 คน นักวิจัยค่อนข้างมั่นใจว่าข้อมูลที่ได้ยังไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อ COVID-19 กับอัตราทารกตายในครรภ์หรือการหยุดเจริญเติบโตของตัวอ่อนอย่างชัดเจน

ในการศึกษาที่เผยแพร่จากกลุ่มวิจัยเมื่อธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา มีการรวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกพบได้ยาก ในหญิงตั้งครรภ์ 62 รายที่ตรวจพบเชื้อ COVID-19 จากการเก็บตัวอย่างจากจมูกหรือคอ แต่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือดหรือเลือดจากสายสะดือ และทารก 48 รายที่มีมารดาติดเชื้อก็ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสจากการตรวจตั้งแต่วันแรกเกิด

การศึกษาพบว่าเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก

ทีมงานที่ศึกษายังพบว่าทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 มีอาการปกติดี จากการเปรียบเทียบทารก 179 คนที่เกิดกับมารดาที่ตรวจพบเชื้อ COVID-19 กับทารก 84 คนที่เกิดจากมารดาปกติ พบว่าทารกส่วนใหญ่มีสุขภาพดีเมื่อแรกเกิด รวมถึงอายุ 6–8 สัปดาห์หลังจากนั้นด้วย

นอกจากนี้ มีการตรวจพบแอนติบอดีต่อไวรัสในเลือดจากสายสะดือของมารดาที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าระดับการป้องกันเหล่านี้มีผลต่อทารกในครรภ์มากเพียงใด

วัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์

แพทย์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าหญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญเป็นกลุ่มแรกๆ สำหรับรับวัคซีน COVID-19 แต่เนื่องจากการทดลองวัคซีนในช่วงแรกไม่ได้รวมหญิงตั้งครรภ์ไว้เลย จึงยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนในกลุ่มนี้

หน่วยงานกำกับดูแลบางประเทศ ผลักภาระให้หญิงมีครรภ์ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะรับความเสี่ยงของความปลอดภัยของวัคซีนหรือไม่ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค เช่น ผู้ปฏิบัติงานแนวหน้าควรตัดสินใจร่วมกับแพทย์ว่าจะรับวัคซีนหรือไม่

สำหรับรัฐบาลสวิส กลับไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของหญิงตั้งครรภ์ไว้เลยในตอนแรก โดยให้เหตุผลว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งนักวิจัยหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว โดยอ้างว่าความเสี่ยงของโรคที่เกิดกับคนท้องนั้นสูงกว่าและวัคซีน mRNA ที่ส่วนใหญ่ใช้อยู่ปัจจุบัน ไม่ได้มีอันตรายที่เฉพาะเจาะจง นักวิจัยเชื่อว่า เป็นไปได้ยากมากที่วัคซีนนี้จะก่อให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ ในขณะนี้รัฐบาลสวิสจึงแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังบางอย่างจะได้รับพิจารณาให้รับวัคซีนได้

ในสหรัฐอเมริกาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและ CDC ต่างเฝ้าติดตามผลของการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ทีมงานของมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้จัดทำแบบสำรวจสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรหรือหญิงที่มีวางแผนที่จะตั้งครรภ์และได้รับวัคซีนแล้ว โดยรวบรวมได้กว่า 20,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนของ Pfizer / BioNTech หรือ Moderna ผลจากรายงานพบว่า “ไม่มีธงสีแดง” (ไม่มีอันตราย) และล่าสุด Pfizer ได้เริ่มทดลองวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์แล้ว

หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรถูกละเลยจากการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง

นักวิจัยและกลุ่มผู้สนับสนุนต้องการใช้กรณีการระบาดและการพัฒนาวัคซีน COVID-19 เปลี่ยนมาตรฐานของการทดลองทางคลินิกในอนาคต รวมทั้งการพิจาณาควรที่จะต้องมีการรวมหญิงตั้งครรภ์ในการทดสอบวัคซีนไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้ไม่ถูกละเลยจากการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง

บทความเรียบเรียงจาก

Nature 591, 193-195 (2021)
doi: https://doi.org/10.1038/d41586-021-00578-y

sarapukhttp://www.amphur.in.th
คนที่อยากเห็น Biomedical Engineering ของประเทศไทย พัฒนาก้าวไกล

Stay Connected

16,985แฟนคลับชอบ
2,458ผู้ติดตามติดตาม

Press release

Advertorial

Related News

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.