ประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการผลิตงานวิจัยออกมาจำนวนมาก รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและลงทุนอย่างสูงในงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันประเทศจีนมีการเผยแพร่งานวิจัยสูงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงอเมริกาเท่านั้น แต่มีคำถามตามมาว่างานวิจัยที่ผลิตออกมามากมายขนาดนั้น มีคุณภาพมากน้อยเพียงไร?
The Nature Publishing Index 2010 China ได้เผยแพร่ข้อมูลการเติบโตของงานวิจัยจากประเทศจีนที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของ Nature ในปี 2010 เพื่อจัดอันดับของหน่วยวิจัยและเมืองต่างๆในจีน ในการจัดอันดับเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลของปี ค.ศ. 2009 กับ 2010 นอกจากนั้นยังนำเสนอ ข้อมูลการตีพิมพ์ในวารสาร Science, Cell, NEJM และ The Lancet ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มของวารสารทางวิชาการชั้นแนวหน้าของโลก ที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก มีจำนวนงานวิจัยจากจีนที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารกลุ่มดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
โดยที่จำนวนของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature มีจำนวนเพียง 6 บทความ ในปี 2000 เพิ่มเป็น 149 บทความ ในปี 2010 แซงประเทศออสเตรเลีย ขึ้นเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศเเเอเชียแปซิฟิค (แสดงในรูปที่ 1) ส่วนจำนวนของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในกลุ่มวารสารแนวหน้าของโลกจากจำนวน 3 บทความ ในปี 2000 เพิ่มเป็น 27 บทความ ในปี 2010 (แสดงในรูปที่ 2) ซึ่งถือว่างานวิจัยคุณภาพจากประเทศจีน มีอัตราเพิ่มขึ้นในแต่ละปีเร็วขึ้นมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
หน่วยวิจัย 10 อันดับแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกมากที่สุด ได้แก่
- Chinese Academy of Sciences
- Tsinghua University
- University of Science and Technology of China (USTC)
- BGI Shenzhen
- Peking University
- Nanjing University
- the University of Hong Kong
- Southeast University
- Xiamen University
- Zhejiang University
ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ ถือว่าเป็นหน่วยวิจัยที่เป็นผู้นำทางด้าน structural biology, physics, genetics, materials, metamaterials และ chemistry โดยเฉพาะ Chinese Academy of Sciences (CAS) ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Nature ในปี 2010 มากถึง 40 บทความ CAS เป็นหน่วยงานที่มีหน่วยวิจัย ประมาณ 100 หน่วย และมีนักวิจัยทำงานอยู่มากกว่า 50,000 คน เป็นที่สร้างผลงานวิจัยให้ประเทศจีนได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นประเทศจีนยังมีมหาวิทยาลัยอีกเป็นจำนวนมาก ที่สร้างงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อทำการจัดอันดับแยกเป็นเมืองต่างๆ ตามที่อยู่สังกัดของนักวิจัย สามารถเรียง 10 อันดับเมืองที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Nature ปี 2010 มากที่สุดได้ดังนี้
- Beijing
- Shanghai
- Nanjing
- Hefei
- Hong Kong
- Shenzhen
- Xiamen
- Hangzhou
- Guangzhou
- Tianjin
จากข้อมูลต่างๆเหล่านี้จะเห็นได้ว่าประเทศจีน มีการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเรา ต้องตั้งคำถามว่า ประเทศเรา(ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน)ให้ความสำคัญกับงานวิจัย และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ถือว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ มากน้อยเพียงไร
ที่มา-https://blogs.nature.com
18 พฤศจิกายน 2011 10:08
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับการนำบทความดี ๆ มาให้อ่าน